วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

นวัตกรรมน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่

นวัตกรรมน่ารู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นวัตกรรมการผ่าตัดผ่านกล้องLaparoscopic Surgery รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
18 มีนาคม 2556 

             ศัลยแพทย์เผย มะเร็งลำไส้ใหญ่หากตรวจพบระยะแรก สามารถหายได้ 95% ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบใหม่ แผลเล็กผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยในวันที่ 18 มีนาคม ปี2556 นายแพทย์ ธีรสันติ์ ตันติเตมิท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศัลยแพทย์ คลินิกลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คลินิกโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า ปัจจุบันนี้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประชากรโลกรองจากมะเร็งปอด เนื่องด้วยปัจจัยชี้นำของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ดังนั้นจึงควรหันมาใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อป้องกันการเกิดโรค นอกจากนั้นการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อคนเราเริ่มเข้าสู่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรใส่ใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย และภาวะความเครียดต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการร่างกาย แม้ยังไม่มีข้อสรุปและผลการวิจัยที่แน่ชัดว่าการเกิดมะเร็งในร่างกายของคนเรานั้นมาจากปัจจัยใดเป็นหลัก แต่ก็มีรายงานที่อ้างอิงได้ว่า อาหาร มลภาวะ และความเครียดสามารถก่อให้เกิดเนื้อร้ายในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้รู้เท่าทันภาวะของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย โดยแนะนำว่าควรเริ่มตรวจสุขภาพอย่างจริงจังในทุกระบบเมื่ออายุ 40 ปี และทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกปี หรือทำความสะอาดลำไส้ด้วยการดีท๊อกซ์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันได้

                                                                                      IMAGE SOURCE : https://www.prachachat.net 
                 ในปัจจุบันนี้พบว่าประชาชนได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น อาจเป็นเพราะสาเหตุหลักจากอาหารที่บริโภคเข้าไปในแต่ละวัน ซึ่งในร่างกายของคนเรานั้นจะปรับตัวตอบสนองกับสิ่งเร้าทั้งในและนอกร่างกายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเกิดของมะเร็งจึงเป็นธรรมชาติเช่นกัน ในทางการแพทย์พบว่าในร่างกายส่วนต่างๆ จะมีการเกิดติ่งเนื้อขึ้นมาเอง เมื่อเกิดติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้ใหญ่นั่นคือกลไกการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเยื่อบุผนังภายในลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นด้วยสารพิษที่อยู่ในกากอาหาร ซึ่งมักจะมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นเวลานานหลายสิบปี จะนำไปสู่ความผิดปกติของยีนจนเกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่เกิดเป็นเนื้องอกเล็กๆ ต่อมาเนื้องอกนี้จะกลายพันธุ์และแบ่งตัวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยการเป็นมะเร็งระยะแรกจะเกิดที่ผิวของก้อนเนื้องอกเท่านั้นยังไม่ลุกลาม ซึ่งหากตรวจพบในระยะนี้ก็จะสามารถผ่าตัดออกได้โดยมะเร็งยังไม่ลุกลามทำอันตรายต่ออวัยวะอื่น ซึ่งการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การส่องกล้องตลอดความยาวของลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เมื่อพบติ่งเนื้อก็สามารถใช้เครื่องมือตัดออกมาตรวจได้ ซึ่งถ้าผลการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 1 ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดถึง 95% โดยไม่ต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพิ่มเติม ส่วนการตรวจหาติ่งเนื้ออีกวิธีหนึ่งคือ การเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT colonography) ซึ่งสามารถเห็นทั้งภายในและภายนอกของลำไส้ใหญ่
                                                                                        IMAGE SOURCE : https://www.thairath.co.th
                  ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้คือ เคยตรวจพบติ่งเนื้อ Adenomatous polyps, มีประวัติครอบครัว เป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีติ่งเนื้อชนิด Adenomatous polyps, มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายชนิด อาทิมะเร็งเต้านม รังไข่ มดลูก และอวัยวะอื่นๆมีประวัติเป็นลำไส้อักเสบ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งลำไส้คือ การกินอาหารที่มีเส้นใยน้อยแต่มีไขมันมาก การนั่งอยู่กับที่ไม่ค่อยมีการขยับไปมา อาการแสดงของมะเร็งลำไส้นั้น ในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย แต่ต่อมาจะเริ่มมีเลือดออกจากทวารหนัก มีเลือดในอุจจาระ จำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม รูปร่างของอุจจาระจะเล็กลง มีอาการปวดที่บริเวณท้องช่วงล่าง มีอาการปวดจากท้องอืดบ่อยขึ้น น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องและมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
                     ถ้าตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้แล้ว วิธีการรักษาที่ดีก็คือการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้การผ่าตัดได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) มีข้อดีคือไม่ต้องเปิดปากแผลกว้าง แผลมีขนาดประมาณ 1-2เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นน้อย และยังลดภาวะเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก เนื่องด้วยผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเป็นคนอายุมาก ส่วนใหญ่อายุประมาณ 45 ปี ขึ้นปี ถ้าหากทำการผ่าตัดแบบปกติจะต้องเปิดปากแผลกว้างมาก (ประมาณ 7 – 10 นิ้ว) ทำให้เสียเลือดในปริมาณมาก และยังต้องใช้เวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดนานมาก เพราะต้องทำช่องขับถ่ายเทียมผ่านทางหน้าท้อง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีผู้นิยมเลือกการผ่าตัดแบบส่องกล้องมากขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยก็มีการนำเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้องมาใช้กันอย่างแพร่หลาย หากแต่การผ่าตัดแบบนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผ่าตัดหลายชิ้นที่ต้องใช้แล้วทิ้งเลยนำกลับมาใช้อีกไม่ได้ นอกจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดผ่านกล้องก็อยู่ไม่มาก ยิ่งในสาขาของศัลยกรรมผ่าตัดมะเร็งลำไส้มีผู้ที่เชี่ยวชาญอยู่ประมาณ 5 – 10 % ของแพทย์ทั้งหมดเท่านั้น
ที่มา : https://thaicoloclinic.com

"ไบโอมาร์เกอร์" นวัตกรรมใหม่รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
16 กันยายน 2558
                     การตรวจด้วย "ไบโอมาร์เกอร์" และรักษาด้วยยาฉีดมุ่งเป้ายื้อชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะแพร่กระจายให้หายขาดหรือมีชีวิตที่ยืนยาว โดยในปี 16 กันยายน ปี 2558 นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยเผยวิธีการรักษาเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะแพร่กระจายให้หายขาดหรือมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น 3- 5 ปี โดยการตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า "ไบโอมาร์เกอร์" (Biomarker) หรือ "ยีนบ่งชี้" และรักษาด้วยยาฉีดแบบมุ่งเป้า สามารถประคับประคองเพิ่มอายุขัยของผู้ป่วยได้มากขึ้น

           IMAGE SOURCE : http://www.melove-collagen.com

                     รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบันได้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการรักษาให้หายขาดหรือยืดชีวิตผู้ป่วยให้มีอายุขัยยาวนานเพิ่มขึ้นถึง 3-5 ปี โดยแนวทางการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักยุคใหม่จะเน้นความจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น (Personalized Therapy) ด้วยการตรวจที่เรียกว่า "ไบโอมาร์เกอร์" (Biomarker) หรือ "ยีนบ่งชี้"การตรวจ "ยีนบ่งชี้" หมายถึงการตรวจยีนในร่างกายของเราเอง เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้สามารถตรวจหายีนบ่งชี้สำหรับการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักโดยการนำชิ้นเนื้อตรงบริเวณที่เป็นมะเร็งมาตรวจ จะทำให้แพทย์สามารถเลือกชนิดยาที่ใช้ในการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยการตรวจจะทราบผลภายในเวลา 1-2 สัปดาห์  ซึ่งจะสามารถทำนายการตอบสนองต่อยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ โดยตอนนี้ในประเทศไทยสามารถทำได้ในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งทั่วประเทศแล้ว รศ.นพ.วิโรจน์กล่าวต่ออีกว่าหลังจากที่ได้ตรวจ"ยีนบ่งชี้"แล้ว แพทย์จะสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และทำการวางแผนในการรักษา เพื่อที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการคาดคะเนกับผลการรักษาได้ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจายระยะที่ 3 และระยะที่ 4 บางรายสามารถเลือกใช้ยามุ่งเป้าชนิดฉีด ที่สามารถใช้เดี่ยวๆ ในการรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด โดยนวัตกรรมใหม่ในการรักษานี้ สามารถยืดอายุของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยามาตรฐานอื่นๆ มาแล้วโดยจากการศึกษาซึ่งทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับยามุ่งเป้าชนิดฉีดสามารถยืดชีวิตมากขึ้นหลายปี
                     ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มักจะไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะแรกดังนั้นจึงต้องวางแผน และจะทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดีขึ้นวิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็ง สมัยก่อนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว การรักษามะเร็งเป็นการรักษาแบบเหวี่ยงแหคนไข้ทุกคนใช้รักษาเหมือนกันหมด เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดก็จะทำลายทั้งเซลล์ดีและเซลล์ไม่ดี เป็นการรักษาแบบไม่จำเพาะ แต่ต่อมาเมื่อช่วง 10ปีที่แล้ว เราเริ่มรู้ว่าคนไข้แต่ละคนแม้เป็นโรคเดียวกัน แต่การรักษาไม่เหมือนกัน โดยการตรวจไบโอมาร์เกอร์หรือ"ยีนบ่งชี้" ทำให้เรารู้ว่าคนไข้แต่ละคนควรรักษาอย่างไร
                     โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เซลล์มะเร็ง จะก่อตัวขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ ขณะที่มะเร็งทวารหนักเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งจะเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อในส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ใกล้กับทวารหนัก โดยทั่วไปโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พัฒนามาจากเซลล์ปกติ ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นตัวเซลล์มะเร็ง และมีเนื้องอกในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สาเหตุของการเกิดโรคนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด แต่อุบัติการณ์หรือโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ปกติจะพบน้อยในคนอายุไม่ถึง 40 ปี แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าหลังอายุ 50 ปี ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกหากมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เพิ่มเข้ามาและการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นั้นค่อนข้างสลับซับซ้อนและยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ อยู่หลายปัจจัย อาทิ คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่คนที่เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่,มะเร็งรังไข่,มะเร็งมดลูกและมะเร็งเต้านม คนที่เคยมีติ่งเนื้อ (Polyps)คนที่เคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ,เคยเป็นโรคอ้วนและสูบบุหรี่มาก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดมะเร็งทุกรายไป
                  ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีประวัติญาติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนานเกิน 7 ปี มีประวัติพบเนื้องอก (Polyps) ในลำไส้ สำหรับอาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีอาการเลือดปนมาในอุจจาระ มีเลือดออก ทางทวารหนัก ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อุปนิสัยการขับถ่าย เปลี่ยนไป เช่น เคยถ่ายอุจจาระทุกวันก็เปลี่ยนไป มีอาการท้องผูก มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดมวนท้องเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง ซึ่งมักเป็นทางด้านขวาตอนล่าง ต่อเนื่องในระยะเวลานานพอสมควร เช่น 2 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้ไปพบแพทย์
               โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดขึ้นจากเซลส์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นทางเดินอาหารส่วนปลายลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ ลำไส้ใหญ่โคลอน (Colon) และมีส่วนลำไส้ใหญ่ส่วนปลายคือช่วงส่วนยาว 6 นิ้วสุดท้ายก่อนถึงทวารหนัก เรียกว่า ลำไส้ใหญ่ เรคตั้ม (Rectum) ลักษณะอาการที่ชวนสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่ อุจจาระมีมูกเลือดหรือสีดำคล้ำ หรือดำแดง นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่นมีอาการท้องผูก สลับท้องเสียขนาดของเส้นอุจจาระไม่สุดมีอาการแน่นท้องท้องอืดปวดท้องอาเจียนมีอาการอ่อนเพลียน้ำหนักลดโดยไม่รู้สาเหตุ วิธีการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะด้วยการรับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ
            มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด อุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งและอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มากเป็นลำดับที่ 4 โดยพบผู้ป่วยรายใหม่โดยเฉลี่ย11,496 ราย/ปี และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 6,845 ราย/ปี รองจาก มะเร็งตับมะเร็งปอด และ มะเร็งเต้านมสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับที่3ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย
               การคัดกรองในระยะเริ่มต้นมีความสำคัญในการช่วยตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอย่างยิ่ง  ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเลือดในอุจจาระการตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) เมื่อมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยการส่องกล้องเข้าไปตัดติ่งเนื้อ แล้วนำชิ้นเนื้อไปวิเคราะห์ การตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ และการตรวจเลือดเพื่อหาสาร CEA ซึ่งใช้ในการติดตามผลการรักษา ซึ่งโดยปกติแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแบ่งออกเป็น 4 ระยะ  ได้แก่  ระยะที่ 1 มะเร็งยังคงจำกัดอยู่ที่ผนังลำไส้ด้านใน ระยะที่2 มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ระยะ 3 เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และระยะที่ 4เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับปอด,เยื่อบุช่องท้อง และรังไข่ เป็นต้น 31 พฤษภาคม 2561
ที่มา : <http://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/5917

นวัตกรรมคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
31 พฤษภาคม 2561


ที่มา : <https://www.youtube.com/watch?v=GebpPj0csYs

อ้างอิง:
<https://goodlifeupdate.com/healthy-body/health-education/8103.html#cxrecs_s
<http://www.bangkokbiznews.com/pr/detail/5917

<https://thaicoloclinic.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นวัตกรรมน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่

นวัตกรรมน่ารู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นวัตกรรมการผ่าตัดผ่านกล้อง Laparoscopic Surgery รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ 18  มีนาคม 2556  ...